นักศึกษาทันตแพทย์หลังปริญญา ม.อ. คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

นักศึกษาทันตแพทย์หลังปริญญา ม.อ. คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

นักศึกษาหลังปริญญา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับ  2  รางวัลใหญ่จากการประกวดผลงานวิจัย จากงาน D.A.T Graduate Research Competition Award 2020 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 และการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 111 (2/2563) ของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 18 ธันวาคม  2563  ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ โดย ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “Bone regeneration capacity of a novel semi-rigid shell barrier system” ของ ทพญ.รัดจิต ตัณฑเสน โดยมี ศ.ทพญ.ปริศนา ปริพัฒนานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานวิจัยเรื่อง “Class II Elastics May Improve Masseter Balance in Orthodontic Patients” ของ ทพ.ณภัทร นะลำเลียง โดยมี รศ.ดร.ทพ.อุดม ทองอุดมพร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

สำหรับงานวิจัย “Bone regeneration capacity of a novel Semi-Rigid Shell Barrier System”  มีแนวคิดมาจาก ปัญหาที่พบทางคลินิกคือ ในรอยวิการของกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วยทางทันตกรรม โดยเฉพาะรอยวิการขนาดใหญ่ที่ไม่มีผนังกระดูกล้อมรอบ จะไม่มีกระดูกที่เพียงพอต่อการใส่ฟันทดแทน ซึ่งปกติการรักษาในกรณีเช่นนี้ ทำได้โดยการปลูกกระดูกโดยจำเป็นต้องใช้แผ่นกระดูกของผู้ป่วย หรือโครงไททาเนียม หรือแผ่นเยื่อกั้นที่ไม่สลายตัวชนิดเสริมฐานด้วยไททาเนียม ทำหน้าที่เป็นผนังที่แข็งแรงต่อการคงปริมาตรของกระดูก แต่มีข้อจำกัดคือ หากใช้กระดูกจากตัวผู้ป่วยเองจะจำเป็นต้องผ่าตัดกระดูกมาจากบริเวณอื่นซึ่งก่อให้เกิดความไม่สบายแก่ผู้ป่วย และสำหรับแผ่นเยื่อกั้นที่ไม่สลายตัวจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำวัสดุออกในภายหลัง

งานวิจัยนี้ เป็นการสร้างระบบกั้นเนื้อเยื่อชนิดกึ่งแข็ง ที่ผลิตจากวัสดุผสมโพลิคาโปรแลกโตนและไบเฟสิกแคลเซียมฟอสเฟต ในงานปลูกกระดูก ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรง ต้านทานแรงกดได้ดี ทำหน้าที่เป็นผนังกั้นเนื้อเยื่ออ่อนไม่ให้แทรกผ่าน แต่สามารถมีการซึมผ่านของสารอาหารและเส้นเลือดแทรกได้ เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อ ย่อยสลายได้ในร่างกายและผสานไปกับกระดูกและเยื่อเยื่อได้ เหมาะสมครบถ้วนในงานปลูกกระดูก รวมทั้งเป็นวัสดุที่ส่งเสริมการสร้างของเซลล์กระดูก ใช้งานง่ายในทางคลินิก ราคาไม่สูง และสามารถผลิตได้เองโดยไม่มีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่อย่างใด งานวิจัยนี้ ประสบความสำเร็จในสัตว์ทดลอง และกำลังอยู่ในแผนที่จะวิจัยในอาสาสมัครต่อไป

Search