หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรฯ

ภาษาไทย        หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตร แสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
ภาษาอังกฤษ    Residency Training Program in Pediatric Dentistry
ชื่อวุฒิบัตร
ชื่อเต็ม
ภาษาไทย         วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
ภาษาอังกฤษ     Diploma  of   Thai  Board  of Pediatric Dentistry
ชื่อย่อ
ภาษาไทย        ว.ท.(ทันตกรรมสำหรับเด็ก)
ภาษาอังกฤษ    Dip.(Pediatric Dentistry)

ทันตแพทย์ที่จบการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก จะต้องมีความรู้ ความสามารถขั้นต่ำ ดังนี้
1. มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทันตแพทยศาสตร์ สามารถใช้กระบวนการวิจัย และนำความรู้ด้านทันตกรรมสำหรับเด็กมาตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย วางแผนการรักษา พยากรณ์โรค ให้การป้องกัน รักษาและฟื้นฟูโรคของฟัน โรคของเนื้อเยื่อปริทันต์ และรอยโรคของเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยคำนึงถึงหลักสุขภาพองค์รวม
2. สามารถตรวจ วินิจฉัย และรักษาฉุกเฉินเมื่อมีภยันตรายต่อฟัน ตรวจความผิดปกติของการสบฟันและทำการจัดฟันระยะเริ่มแรกเพื่อป้องกัน หรือแก้ไขความผิดปกติของการสบฟันเฉพาะตำแหน่ง
3. สามารถตรวจความผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก การมีโรคทางระบบ การเป็นเด็กพิเศษ การมีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน โดยการส่งต่อเพื่อปรึกษาหรือให้ความร่วมมือกันในการรักษากับทีมแพทย์ ทันตแพทย์ในสาขาอื่น หรือวิชาชีพอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง ด้วยการปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีทางจิตวิทยาและการใช้ยาเพื่อให้เด็กสงบ หรือให้การรักษาทางทันตกรรมภายใต้การดมยาสลบโดยมีการติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสม
4. สามารถใช้เทคโนโลยีสืบค้นข้อมูลเพื่อเรียนรู้อย่างยั่งยืน สามารถวิพากษ์ วิเคราะห์ ข้อมูลวิชาการและทำการวิจัยทางทันตกรรมสำหรับเด็กเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในวิชาชีพได้ และสามารถนำเสนอผลงานวิชาการในวารสาร ในที่ประชุมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
5. มีเจตคติที่ดีและรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพ มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
6. มีทักษะในการฟังและการสื่อสารเพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้ คำแนะนำทางทันตกรรมสำหรับเด็กทั้งแก่ เด็ก ผู้ปกครอง นักศึกษาและทันตแพทย์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม รวมถึงให้การฝึกอบรมแก่ผู้สนใจตลอดจนบุคลากรทางสาธารณสุข

สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก เป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาทันตกรรมป้องกัน ซึ่งประกอบไปด้วย สาขาทันตกรรมจัดฟัน และทันตกรรมชุมชน ผู้รับการฝึกอบรมจะได้รับการเรียนการสอนจากคณาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยเด็ก เน้นการดูแลผู้ป่วยอย่างพร้อมมูลครอบคลุมในกลุ่มผู้ป่วยเด็กพิเศษและผู้ป่วยโรคทางระบบ ผู้รับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้การทำโครงการทันตกรรมป้องกันในชุมชน มีการสัมมนาร่วมกับทันตแพทย์สาขาอื่น เพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยร่วมกันเช่น การรักษารากฟันซี่ฟันแท้ ผู้ป่วยมีฟันหายหลายตำแหน่ง จำเป็นต้องทำงานร่วมกับทันตแพทย์จัดฟันและทันตกรรมประดิษฐ์ สถาบันมีความพร้อมทางสถานที่และอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์สนับสนุนการทำวิจัย และมีห้องสมุดสนับสนุนการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ ภายในสถาบันมีการจัดหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้ความรู้ในงานเฉพาะทางอื่นๆ เช่น การบูรณะฟันเพื่อความสวยงามโดยคณาจารย์จากสาขาทันตกรรมหัตถการ การรักษารากฟันแท้ที่ปลายรากเปิดโดยคณาจารย์สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ การฝึกอบรมงานวิสัญญีโดยแพทย์เฉพาะทางวิสัญญี คณาจารย์มีความทุ่มเทในการฝึกอบรม ให้การดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการเรียนการสอนสาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน (interceptive treatment) โดยอาจารย์เฉพาะทางทันตกรรมจัดฟันและมีการเรียนรู้ วางแผนการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องร่วมกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาจัดฟัน ได้เรียนรู้และลงปฏิบัติงานคลินิกรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มปากแหว่งเพดานโหว่ หลักสูตรมีการประสานงานร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในส่วนของวิชาบรรยาย การปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล นอกจากนี้หลักสูตรยังสนับสนุนการฝึกอบรมดูงานนอกสถานที่ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันราชานุกูล กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, หน่วยกายภาพบำบัดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงเรียนที่มีหลักสูตรสำหรับเด็กพิเศษ เป็นต้น เพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรมได้เกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยเด็ก

150,000 บาท/ปี โดยให้การสนับสนุนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากเงินกองทุนวิจัย และเงินรายได้คณะ ดังนี้
1. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประชุมวิชาการ และฝึกอบรมตลอดหลักสูตรคนละ 60,000 บาท/คน/หลักสูตร
2. สนับสนุนการวิจัย 15,000 บาท/คน/หลักสูตร
3. สนับสนุนในการไปเสนอผลงานทางวิชาการต่างประเทศ 10,000 บาท /คน/หลักสูตร

Search