เด็กไทยไร้ฟันผุในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ ๒ จังหวัดระนอง พ.ศ.2557
โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



“บทสรุปผู้บริหาร”
โครงการเด็กไทยไร้ฟันผุในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ 2 จังหวัดระนอง ได้เลือกพื้นที่ในอำเภอละอุ่นเพื่อพัฒนาและศึกษานวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากของนักเรียนในช่วงวัยอนุบาลถึงประถมศึกษาได้แก่ โรงเรียนบ้านในวง (พื้นที่ทรงงาน) และ โรงเรียนวัดช่องลม โดยมีกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมปกติจำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนระวิราษฎร์บำรุง และโรงเรียนทุ่งตาพลวิทยา ครอบคลุมนักเรียนทั้งหมดจำนวน 544 คน ในเบื้องต้นทั้ง 4 โรงเรียนได้รับบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ จากหน่วยงานภายในจังหวัดระนองร่วมกับหน่วยทันตกรรมพระราชทาน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วยการอุดฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์และการถอนฟัน และมีการพัฒนาศักยภาพของทันตบุคลากรในการเคลือบหลุมร่องฟันและทาฟลูออไรด์วานิช รูปแบบการศึกษาเป็น Quasi-experimental study แบบ Two group pretest-posttest design ก่อนเริ่มกิจกรรมได้มีการเก็บข้อมูลของทั้ง 4 โรงเรียน (Baseline: พ.ย 56 –ม.ค. 57) ได้แก่ ตรวจฟัน ตรวจระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์ การสัมภาษณ์และสังเกตถึงระบบการแปรงฟัน การควบคุมอาหาร และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของนักเรียน จากนั้นได้มีกิจกรรมในกลุ่มศึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน (พ.ค. –พ.ย 57) โดยกลุ่มศึกษาได้รับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยทีมวิจัยภายใต้การใช้แนวคิดการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมมุ่งเน้นเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง ได้รับการสนับสนุนสื่อส่งเสริมการเรียนรู้จากการเล่นหลากรูปแบบ อาทิ กระจกพูดได้ เซียมซี ฟ.ฟัน เกมบันไดงูเรียนรู้เรื่องฟัน ภาพพลิกเด็กน้อยฟันดี และมีการติดตามผลเป็นระยะแบบกัลยาณมิตร เมื่อสิ้นสุดการศึกษาได้มีการเก็บข้อมูลประเมินผล (Evaluation: พ.ย 57 –ม.ค. 58) เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมในแง่วิธีการทำงานของทีมงาน(ทันต)สาธารณสุข การดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของนักเรียน และระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์โดยใช้เครื่องมือการสัมภาษณ์ การสังเกต การตรวจสภาพช่องปาก โดยมีการควบคุมคุณภาพตามระบบงานวิจัย ร่วมกับการถอดบทเรียนถึงความสำเร็จและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของพื้นที่
ผลการศึกษาพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของทีมงานทันตสาธารณสุขที่เด่นชัดในแง่การทำงานเป็นทีม และมีการนำแนวคิดการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมมาใช้ในการทำงานกับทางโรงเรียนและชุมชน อาทิ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการนิเทศงานหรือการสั่งการ มาเป็นการจุดประกาย สนับสนุน ร่วมกันวางแผน จัดเวทีประชาคมและร่วมหาวิธีการในการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมกับทางโรงเรียนและชุมชน มีการดึงศักยภาพของทีมที่หลากหลายมาเสริมกันในการทำงานร่วมกับชุมชน มีการเพิ่มเติมการทำงานเรื่องสุขภาพช่องปากในกิจกรรมเยี่ยมบ้านร่วมกับทางโรงเรียนมากขึ้น
พบว่าโรงเรียนบ้านในวงและโรงเรียนวัดช่องลมภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ มีการพัฒนาระบบการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนโดยเน้นการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อย 2 นาที และเพิ่มการครอบคลุมจำนวนนักเรียนมากขึ้นอย่างชัดเจนและโรงเรียนวัดช่องลมเพิ่มการแปรงฟันหลังอาหารเช้าที่โรงเรียน ทั้งสองโรงเรียนมีกิจกรรมการย้อมสีแผ่นคราบจุลินทรีย์โดยใช้สีย้อมแบบน้ำยาบ้วนปากทุกวันศุกร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแปรงฟันให้สะอาด มีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการใช้สื่อที่ได้รับและโรงเรียนมีการจัดทำสื่อและกิจกรรมที่หลากหลายให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า ในตอนเริ่มต้นไม่มีความแตกต่างทั้งกิจกรรมสนับสนุนนักเรียนและผู้ปกครอง ระบบการแปรงฟันและระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์ แต่เมื่อสิ้นสุดการศึกษา กลุ่มศึกษามีกิจกรรมที่เพิ่มเติมด้วยตนเองมากขึ้น มีระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.005) โดยพบว่าระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์ในกลุ่มศึกษาลดลงร้อยละ 30.6 ขณะที่กลุ่มควบคุมลดลงร้อยละ 19.8 ทั้งนี้ในส่วนของพฤติกรรมการรับประทานอาหาร พบว่าระยะก่อนการศึกษา กลุ่มศึกษามีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูงกว่ากลุ่มควบคุม อาทิ ไอศกรีม นมเปรี้ยว แต่เมื่อสิ้นสุดการศึกษากลุ่มศึกษามีแนวโน้มส่วนใหญ่รับประทานอาหารที่ดีขึ้น โดยมีการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม
จากการถอดบทเรียนถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของกลุ่มศึกษาที่สำคัญคือ การทำงานที่เป็นทีม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากทั้งการแปรงฟันและการควบคุมการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ พบว่า เกิดจากการส่งเสริมศักยภาพของทีมงานในการดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วม การคิดเชิงระบบ เน้นการสร้างแรงจูงใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนและมีการประเมินผลด้วยตนเองในรูปแบบทีมเป็นระยะ มีการส่งเสริมการทำงานเป็นทีมทั้งภายในทีม(ทันต)สาธารณสุขและทีมร่วมกับทางโรงเรียน มีการพัฒนาทักษะการดำเนินงานที่เน้นการปฏิบัติจริง นำสู่การประยุกต์ใช้และใช้เทคโนโลยีที่ง่าย เช่น การย้อมสีฟันโดยใช้รูปแบบน้ำยาบ้วนปาก ร่วมกับการสนับสนุนสื่อที่ให้เด็กนักเรียนเล่นเป็นกลุ่มใหญ่ หลากหลาย เกิดความสนุกและเรียนรู้ได้ชัดเจนขึ้น และมีการส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันที่เน้นมิตรภาพ ช่วยเหลือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการชื่นชมเป็นระยะ ทั้งนี้การได้เรียนรู้ระหว่างโรงเรียนด้วยกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้น
ข้อเสนอแนะ ควรมีการส่งเสริมการดำเนินงานให้ขยายถึงครอบครัว ชุมชนมากขึ้น และมีกิจกรรมพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องต่อไป