ฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้
(Rural Oral Health Centre of Southern Thailand)









ปฐมเหตุการจัดตั้ง
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชาชนในเขตชนบทภาคใต้ อันเนื่องมาจากความยากลำบากในการเดินทางไปรับบริการ และจำนวนทันตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนไม่เพียงพอในขณะนั้น

แสวงหาความร่วมมือ
“โครงการจัดตั้งฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้” ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถือกำเนิดขึ้น จากการแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศเพื่อพัฒนางานทันตสาธารณสุขในภาคใต้ ซึ่งในที่สุดได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish International Development Agency; DANIDA) และได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย กรมวิเทศสหการ กระทรวงสาธารณสุข และทบวงมหาวิทยาลัย ให้ เริ่มดำเนินการได้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536















การเติบโตและก้าวย่างสำคัญ
จากความมุ่งมั่นของทีมงานเพื่อการพัฒนางานทันตสาธารณสุขอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งเครือข่ายทันตสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ คทสต. หรือคณะกรรมการทันตสาธารณสุขภาคใต้ นับเป็นก้าวย่างสำคัญหนึ่งภายใต้การตกลงร่วมกันในเครือข่ายและมีเจตนารมณ์ในการ พัฒนางานทันตสาธารณสุขภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เกิดเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้ชื่อ สัมมนางานทันตสาธารณสุขภาคใต้ การยกย่องและเชิดชู บุคคลผู้เป็นตัวอย่างในวงการทันตสาธารณสุข ในชื่อทันตบุคลากรตัวอย่างและดีเด่นภาคใต้








ภายใต้กลยุทธ์ในการดำเนินงานคือ มีการดำเนินงานต่าง ๆ ในเชิงรุกและสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงสุขภาพอย่างองค์รวม มีการจัดบริการวิชาการที่สนองตอบตามความต้องการและความจำเป็นของสังคมและวิชาชีพ ดำเนินการประสานงานและสนับสนุนการบริหารจัดการอบรมศึกษาต่อเนื่อง หน่วยงานในคณะทันตแพทยศาสตร์ สู่สังคม เน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบงานทันตสาธารณสุข อีกทั้งส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยเป็นทีมร่วมกับทันตบุคลากรในพื้นที่ และส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนให้มีการวิจัยทางทันตสาธารณสุขโดยใช้ชุมชนเป็นภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย เพื่อการดำเนินงานทันตสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่องและมีทิศทางสอดรับกับแผนงาน มีวัฒนธรรมการทำงานบนพื้นฐานองค์การแห่งการเรียนรู้และมีการจัดการความรู้ สนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านทันตสาธารณสุขให้แก่ทันตบุคลากรและบุคลากรผ่านช่องทางที่หลากหลายฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้จะยังคงมุ่งก้าวเดินต่อไปให้ถึงฝันของเราที่ว่า
“เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของประชาชนในภาคใต้”
