วันที่ 17 มิถุนายน 2563 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยโครงการ กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดโปรตีนจากน้ำเลี้ยงเชื้อ lactobacilus rhamnosus และ lactobacilus casei แก่ภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท พี เอส ยู นวัตวาณิชย์ บริษัท วธูธร จำกัด และบริษัท ฮายาลิต้า กรุ๊ป จำกัด ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ลงนามร่วมกับ นายทัตภณ จีรโชตินันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท วธูธร จํากัด นางสาวอาลียา สาลีหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮายาลิต้า กรุ๊ป จำกัด นายณัฏฐ์ เศวตรพีพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พี เอส ยู นวัตวาณิชย์ โดยมี ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล หัวหน้าทีมวิจัย และรศ.ดร.ทพญ. ชิดชนก ลีธนะกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ นางสาวกุลญาดา นิธิอักษร ผู้จัดการ บริษัท พี.เอส.ยู. นวัตวาณิชย์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน
กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดโปรตีนจากน้ำเลี้ยงเชื้อ lactobacilus rhamnosus และ lactobacilus casei เป็นผลงานประดิษฐ์ภายใต้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทอนุสิทธิบัตร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์ มีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีความปลอดภัยในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันโรคในช่องปาก อีกทั้งยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และภาคเอกชนนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางพาณิชย์ ในหลากหลายรูปแบบ
ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล นักวิจัยคณะทันตแพยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานวิจัยจากโพรไบโอติกส์ เป็นงานต่อเนื่องจากที่เราใช้ในเรื่องของการป้องกันฟันผุ ตอนนี้นำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เยลลี่ อาหารเสริม และการวิจัยในขั้นต่อไปกำลังทำเรื่องของการนำไปใช้ต้านมะเร็ง จากสกัดสารที่เป็นประโยชน์ ที่สร้างจากโพรไบโอติกส์ เช่นกัน
นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จจากการนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของประชาชนเพื่อจะได้มีสุขภาพในช่องปากที่ดีต่อไป