เกี่ยวกับสาขาวิชา

สาขาวิชาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปากเกี่ยวข้องกับวิธีการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวินิจฉัยโรคช่องปาก ประกอบด้วย 4 อนุสาขาวิชา ได้แก่

  • อนุสาขาวิชาอายุรศาสตร์ช่องปาก (Section of Oral Medicine)

จัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาทันตแพทย์และระดับบัณฑิตศึกษามีความรู้ความสามารถในการตรวจวินิจฉัยรอยโรค และวางแผนรักษารอยโรคต่าง ๆ ในช่องปาก การวางแผนรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบร่วมด้วย รวมทั้งให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาเนื้อเยื่ออ่อนช่องปาก เช่น รอยโรคก่อนมะเร็ง การติดเชื้อในปาก ตุ่มน้ำ และก้อนเนื้อในปาก ความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า ความผิดปกติบริเวณขมับขากรรไกร และงานด้านทันตเวชศาสตร์การนอนหลับ เช่นนอนกัดฟัน นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

  • อนุสาขาวิชารังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล (Section of Oral and Maxillofacial Radiology)

จัดการเรียนการสอนด้านรังสีวินิจฉัย การใช้รังสีในการตรวจวินิจฉัยโรคของฟัน กระดูกขากรรไกร ใบหน้า และกะโหลกศีรษะ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้และความเข้าใจในเรื่องรังสีวิทยาของฟัน กระดูกขากรรไกรและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่พื้นฐานของการเกิดรังสี กระบวนการในการเกิดภาพรังสี ผลทางชีวภาพ อันตรายจากรังสีและวิธีป้องกัน วิธีถ่ายภาพรังสีบริเวณใบหน้าแบบต่าง ๆ และการแปลผลภาพรังสี

  • อนุสาขาวิชาจุลชีววิทยาช่องปาก (Section of Oral Microbiololgy)

จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านจุลชีววิทยา โดยเน้นด้านจุลชีววิทยาช่องปากความเข้าใจกลไกการติดเชื้อจุลชีพ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของร่างกาย การค้นหาแนวทางและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรค การป้องกัน และการควบคุมโรคติดเชื้อ

  • อนุสาขาวิชาพยาธิวิทยาช่องปาก (Section of Oral Pathology)

จัดการเรียนการสอนด้านพยาธิวิทยาทั่วไปที่เป็นพื้นฐานในการอธิบายกลไกการเกิดโรคและการดำเนินไปของโรค ตลอดจนผลของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างทางสรีระและทางชีวเคมี  รวมถึงจัดการเรียนการสอนด้านพยาธิวิทยาช่องปาก ความสัมพันธ์ของโรคช่องปากกับโรคทางระบบ หลักวิธีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางจุลพยาธิวิทยา เทคนิคการเตรียมเนื้อเยื่อ การตรวจพิเศษทางพยาธิวิทยา และการแปลผล

Search