ในการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะผู้ก่อตั้งได้กำหนดนโยบาย เกี่ยวกับการผลิตไว้ข้อหนึ่งว่า “โครงสร้างการบริหารที่ภาควิชาแต่ละภาคมีคลินิกอยู่ในสังกัดของตนเองนั้น ทำให้สิ้นเปลืองในการมีทรัพยากรซ้ำกัน และยังทำให้เวลาส่วนที่ภาควิชาต้องรับผิดชอบ คือ การจัดการเรียนการสอน และการวิจัย ต้องถูกแบ่งมาใช้เพื่อบริหารงานคลินิกอีกด้วย หากพิจารณาในเชิงทฤษฎีการบริหารแล้ว การนำคลินิกทุกคลินิกมารวมกัน และให้มีหน่วยงานใหม่มารับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการพัสดุ อาคารสถานที่ บุคลากร การเงินและงบประมาณ รวมทั้งจัดการเรื่องคลินิกและหออภิบาลผู้ป่วย โดยเรียกหน่วยงานนี้ว่าโรงพยาบาลทันตกรรม จะเป็นประโยชน์มากกว่า” จึงมีการแบ่งส่วนราชการตามกฎหมายต่างจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นๆในสมัยนั้น
โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2529 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางทันตกรรมทุกสาขา โดยอาจารย์ทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็นสถานฝึกปฏิบัติงานของทันตแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ และนักเรียนผู้ช่วยทันตแพทย์ ทั้งระดับก่อนปริญญา ปริญญาตรีและระดับหลังปริญญา รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากรทางทันตสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเป็นฐานการวิจัยทางคลินิกและพัฒนาเทคโนโลยีทางทันตกรรม และเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซับซ้อนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น ซึ่งที่ผ่านมาคณะได้แต่งตั้งรองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลทันตกรรม ทำหน้าที่บริหารจัดการคลินิกและหน่วยงาน ดังนี้
ทำเนียบรองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลทันตกรรม
ชื่อ-สกุล | ปีที่ดำรงตำแหน่ง |
---|---|
อาจารย์ทันตแพทย์ประมุข จิตต์จำนงค์ | มีนาคม พ.ศ.2527 – มิถุนายน พ.ศ.2528 |
อาจารย์ทันตแพทย์ณรงค์ สุขสุอรรถ | กรกฎาคม พ.ศ.2528 – กรกฎาคม พ.ศ.2531 |
อาจารย์ทันตแพทย์ดนัย โกสุมวัชราภรณ์ | กรกฎาคม พ.ศ.2531 – ธันวาคม พ.ศ.2532 |
รองศาสตราจารย์ทันตแพทย์หญิงสุพิศ จึงพาณิชย์ | มกราคม พ.ศ.2533 – พฤศจิกายน พ.ศ.2534 |
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์วิลาศ สัตยสัณห์สกุล | พฤศจิกายน พ.ศ.2534 – กรกฎาคม พ.ศ.2535 |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์สุทธิพงศ์ เชาวนาดิศัย | กรกฎาคม พ.ศ.2535 – พฤษภาคม พ.ศ.2536 |
ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ธงชัย นันทนรานนท์ | พฤศจิกายน พ.ศ.2539 – พฤศจิกายน พ.ศ.2543 |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์วินัย กิตติดำเกิง | ธันวาคม พ.ศ.2543 – เมษายน พ.ศ.2544 |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์สุทธิพงศ์ เชาวนาดิศัย | พฤษภาคม พ.ศ.2544 – มกราคม พ.ศ.2546 |
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ นายแพทย์สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์ | กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 – พฤษภาคม พ.ศ.2553 |
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ นายแพทย์สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์ | กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 – พฤษภาคม พ.ศ.2553 |
อาจารย์ทันตแพทย์วิจารณ์ หอประยูร | พฤษภาคม พ.ศ.2553 – สิงหาคม พ.ศ.2554 |
รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ นายแพทย์สุรพงษ์ วงศ์วัชรานนท์ | สิงหาคม พ.ศ.2554 – พฤศจิกายน พ.ศ.2562 |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์นฤทธิ์ ลีพงศ์ | ธันวาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน |
โรงพยาบาลทันตกรรม
แห่งแรกของภาคใต้
ฝ่ายรักษาพยาบาลดูแลในเรื่องการบริการรักษาทางทันตกรรมโดยมีคลินิกต่าง ๆ ได้แก่ คลินิกรวม 1 คลินิกรวม 2 คลินิกรวม 2 คลินิกรวม 3 คลินิกบัณฑิตศึกษาและเฉพาะทาง คลินิกรังสี คลินิกบริการทันตกรรมนอกเวลาราชการ
ฝ่ายอำนวยการ ทำหน้าที่สนับสนุนการให้การรักษาพยาบาล ได้แก่ งานเวชระเบียน งานเภสัชกรรม หน่วยเงินรายได้ งานเวชภัณฑ์กลาง งานห้องปฏิบัติการทันตกรรม งานวิศวกรรมซ่อมบำรุง งานสังคมสงเคราะห์ และงานธุรการโรงพยาบาลทันตกรรม
การให้การรักษาของโรงพยาบาลทันตกรรม
การให้การรักษาของโรงพยาบาลทันตกรรมประกอบด้วยการให้การักษาทางทันตกรรมพื้นฐาน ได้แก่การตรวจพิเคราะห์โรค การอุดฟัน การรักษาโรคเหงือก การรักษารากฟัน งานครอบและสะพานฟัน งานทันตกรรมประดิษฐ์ งานศัลยกรรมช่องปาก ทันกรรมจัดฟัน ทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน สำหรับการรักษาเฉพาะทาง ได้แก่ การรักษาโรคข้อต่อขากรรไกร การรักษา Orofacial pain การรักษาทันตกรรมรากเทียม (Implant) การผ่าตัดด้วย CO2 laser การผ่าตัด Orthognathic surgery การผ่าตัดขยายกระดูกขากรรไกร (Distraction osteogenesis) การรักษาด้วยเครื่องขยายคลองรากฟันและกล้อง Microscope เป็นต้น
การดูแลผู้ด้อยโอกาส
โรงพยาบาลทันตกรรม การจัดทำโครงการดูแลผู้ด้อยโอกาสทางทันตกรรม โดยจัดทำโครงการความร่วมมือฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในเขตภาคใต้ตอนล่าง โครงการฟื้นฟูสภาพด้วยกระดูกขากรรไกรและใบหน้าประดิษฐ์ โครงการรักษาทางทันตกรรมอย่างครบวงจรสำหรับเด็กพิการที่มีโรคทางระบบ ฯ นอกจากนี้ยังมีการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ทันตกรรมเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย
การสนับสนุนงานวิจัย
โรงพยาบาลทันตกรรมเป็นสถานที่สำหรับการสนับสนุนงานวิจัย ทั้งงานวิจัยทางคลินิกและงานวิจัยทางห้องปฏิบัติการทันตกรรม ของทั้งนักศึกษาปริญญาตรี นักศึกษาหลังปริญญา และอาจารย์ทันตแพทย์ ทำให้เกิดงานวิจัยที่กว้างขวางมากขึ้น